วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทับทิม



ทับทิม มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Punica granatum L.วงศ์ Punicaceae ภาษาอังกฤษเรียก Pomegranateชาวเชียงใหม่และภาคเหนือทั่วไปเรียก มะก้อ ชาวน่านเรียก มะก่องแก้ว ชาวแม่ฮ่องสอนเรียก หมากจัง ชาวหนองคาย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เรียก พิลา ชาวจีนเรียก เซี๊ยะลิ้ว ชาวสเปนเรียก Granada ส่วนชาวอินเดียเรียก Darim


ทับทิม มีถิ่นกำเนิดบริเวณรอยต่อของเอเชียตะวันตกกับตอนบนของเอเชียใต้ คือบริเวณตะวันออกของประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานและทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ทับทิมคงเป็นพืชที่ได้รับความนิยมมากว่าพันปีแล้ว จึงมีการปลูกแพร่กระจายออกไปทั้งในเขตร้อน (tropical) และกึ่งร้อน (Sub-tropical) ของทวีปเอเชีย ยุโรป รวมทั้งในทวีปแอฟริกาด้วยทับทิม มีบทบาทอย่างมากในตำนานต่างๆ ของหลายประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของการเกิด ความสามารถในการเจริญพันธุ์ ชีวิตชั่วนิรันดร์ และความตาย เพราะทับทิมมีเมล็ดมากมาย ชาวกรีกใช้ทับทิมในงานแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงเผ่าพันธุ์ ชาวยิวถือว่าทับทิมเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ ชาวฮินดูเชื่อ ว่า ทับทิมเป็นผลไม้โปรดของพระพิฆเณศจึงนิยมนำผลทับทิมไปถวาย และใช้ดอกทับทิม บวงสรวงบูชาพระอาทิตย์ พระนารายณ์ และเทวีลักษมี อีกด้วย ชาวจีน ถือว่าต้นทับทิมเป็นไม้มงคลโดยเฉพาะทับทิมชนิดดอกสีขาวและเป็นสัญลักษณ์แห่ง ความอุดมสมบูรณ์ ความมีลูกหลานมากมายเนื่องจากผลทับทิมมีเมล็ดมาก กิ่งใบทับทิมเป็นไม้มงคลที่ใช้ทุกงาน มีการปักยอดทับทิมไว้ที่สิ่งของเซ่นไหว้เจ้า ใช้พรมน้ำมนต์และมีไว้ติดตัวเพื่อคุ้มครองกันภัย


ประโยชน์


เมล็ดทับทิมเป็นผลไม้มีรส หวานหรือเปรี้ยวอมหวาน น้ำคั้นจากเมล็ดทับทิมมีกลิ่นหอมชวนดื่ม ประกอบด้วยน้ำตาลและกรดที่เป็นประโยชน์ รวมถึงวิตามินเอ ซี อี ธาตุเหล็ก แคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งเป็นธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการ ทับทิมถูกใช้เป็นยาพื้นบ้านของชาวอิหร่านและอินเดียมาแต่โบราณ น้ำต้มเปลือกทับทิมใช้แก้เจ็บคอ ยาพอกจากใบใช้พอกหนังศีรษะลดอาการผมร่วง น้ำคั้นเมล็ดทับทิมใช้ลดความร้อนในร่างกาย เชื่อว่าช่วยล้างระบบต่างๆ ของร่างกายและเหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์อีกด้วย ชาวอาหรับใช้เปลือกรากทับทิมสดๆ ต้มน้ำ ดื่มถ่ายพยาธิตัวตืด เปลือกจากลำต้นทับทิม ต้มน้ำใช้ถ่ายพยาธิชนิดต่างๆ ร่วมกับยาถ่าย ใช้เปลือกผลทับทิมผสมกานพลูและฝิ่นรักษาโรคบิดและท้องร่วงอย่างแรง ชาวอินเดียใช้น้ำคั้นจากผลทับทิมและดอกทับทิม ปรุงยาธาตุ ใช้สมานลำไส้ และแก้ท้องเสีย เมล็ดทับทิมใช้บำรุงหัวใจ ประเทศไทย แพทย์แผนโบราณใช้ทับทิมทั้งต้นหรือที่เรียกทับทิมทั้งห้าเป็นยาระบาย หรือถ่ายพยาธิเส้นด้ายและตัวตืด เปลือก ราก และเปลือกต้นมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย ใบ ใช้ สมานแผล แก้ท้องร่วง น้ำต้มใบใช้อมกลั้วคอ ทำยาล้างตาดอกใช้ห้ามเลือดเปลือกผลใช้สมานแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง ส่วนเนื้อหุ้มเมล็ด มีวิตามินซีสูงแก้โรคลักปิดลักเปิด และใช้แก้กระหายน้ำ

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Martha Graham ประวัติ ผู้บุกเบิกท่าเต้นรำสมัยใหม่



วันนี้ (11 พฤษภาคม 2554) เป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่ 117 ของ Martha Graham นักออกแบบท่าเต้นชาวอเมริกัน ผู้บุกเบิกการเต้นรำสมัยใหม่จบการศึกษาจากโรงเรียนสอนเต้นรำที่ชื่อว่าเดนิสชอว์ ( Denisshaw ) จัดตั้งโดย รู๊ท เซนต์ เดนิส ( Ruth St. Denis )และสามีนักเต้นรำของเธอ เท็ด ชอว์ ( Ted Shawn )ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1914 ที่เมืองซานตา บาบารา รัฐแคลิฟอร์เนียมาร์ธาเกิดในมลรัฐเพนซิลวาเนีย ในครอบครัวของผู้ที่เคร่งในศาสนาคริสต์ฝ่าย โปรแตสแตนต์ ซึ่งใช้การปกครองโดยพระที่มีสมณศักดิ์เท่ากันหมดและเป็นผู้ที่เคร่งศาสนาในแบบเดียวกันกับคนอังกฤษ ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของศาสนาทางราชการในสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ครอบครัวของเธอจึงได้ย้ายมาที่อเมริกา สิ่งนี้เป็นผลสะท้อนเอาความเข้มงวด ความเคร่งขรึมแสดงออกมาในงานของเธอ ความขัดแย้งระหว่างการรับผิดชอบชั่วดี กับความปรารถนาในอารมณ์แฝงอยู่ในงานหลายชิ้นของเธอ เธอได้สอดแทรกเอาอารมณ์ของความร้ายกาจอย่างขมขื่นกับการสะกดกลั้นความรู้สึกอันเกี่ยวข้องในลัทธิความเชื่อส่วนตัวของเธอไว้ในงานของเธออย่างแยบยล และที่สำคัญเธอยังได้พยายามแสดงให้คนดูเห็นหรือบอกความในใจถึงเรื่องจริงในชีวิตของเธอให้ปรากฏออกมาในงาน ซึ่งพ่อของเธอได้ให้คำยืนยันว่าเธอได้กระทำเช่นนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว



มาร์ธา มีความสนใจในการเต้นรำมาโดยตลอดและมีความตั้งใจว่า จะยึดการเต้นรำเป็นอาชีพ เมื่อเธอได้เห็นการแสดงของ รู๊ท เธอจึงสมัตรเข้าเรียนในโรงเรียนสอนเต้นรำของรู๊ททันทีในปี ค.ศ. 1916 ที่โรงเรียนแห่งนี้มีความพิเศษนอกเหนือจากโรงเรียนเต้นรำอื่น ๆ ในเวลานั้นคือมีการนำเอาวัฒนธรรมจากประเทศอื่น ๆ มาผสมผสานให้ออกมามีลักษณะร่วมสมัย เช่นนำสไตล์การเคลื่อนไหว ของ อียิปต์ และ อินเดียมาประยุกต์ให้เป็นท่าทางที่ร่วมสมัย และยังสอนรูปแบบการเต้นทั้งแบบเก่า และใหม่ผสมผสานกัน มาร์ธาใช้เวลาศึกษาการเต้นรำในโรงเรียนเดนิสชอว์แห่งนี้เป็นเวลา 5 ปี จากนั้นเธอจึงหารูปแบบใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนที่โรงเรียนเดนิสชอว์ สร้างสรรค์ให้เป็นรูปแบบการเต้นของเธอเอง เธอได้พัฒนาสไตล์ของเธอเองมาจนถึงจุดหนึ่งที่เธอได้ค้นพบเทคนิค”การยืด” และ “การหด”กล้ามเนื้อ (Contraction and Release ) หลังจากที่เธอได้ตั้งคณะและตระเวนเปิดการแสดงไปทั่วแล้ว ในปี ค.ศ. 1927 เธอได้เปิดโรงเรียนสอนเต้นรำร่วมสมัยของเธอพร้อม ๆ ไปกับคณะการแสดงของเธอซึ่งมีผลงานการแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง มาร์ธา เกรแฮม เป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์โมเดิร์นแดนซ์ แม้มาร์ธาจะเสียชีวิตไปแล้วแต่คณะการแสดงของเธอก็ยังเปิดการแสดงต่อมา ก่อนที่จะปิดตัวลงไปกลายเป็นประวัติศาสตร์ ท่ามกลางความเสียดายของคนทั่วโลก แต่ผลงานของเธอได้ถูกนำไปเผยแพร่อย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้โดยเหล่าลูกศิษย์ของเธอ และศิลปินเหล่านั้นก็ยังคงใช้วิธีการสอนที่ได้ร่ำเรียนมากับเธอต่อมาอีกด้วย เช่น เมิร์ส คันนิ่งแฮม, อีริค ฮอคกินส์, แอนนา ซากาโลว์, พอล เทลเลอร์ หรือแม้แต่นักร้องเพลงป๊อปยอดนิยมของสหรัฐอเมริกาอย่าง มาดอนน่าก็ยังเคยเป็นลูกศิษย์ของมาร์ธา เกรแฮมอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นนักร้องยอดนิยมในภายหลัง มาดอนน่าเคยกล่าวว่า ช่วงเวลาที่ได้อยู่ในคณะเต้นรำของมาร์ธา เกรแฮมเป็นช่วงเวลาที่เธอได้เรียนรู้ถึงระเบียบวินัย และสมาธิในการเคลื่อนไหว ซึ่งเธอได้นำสิ่งที่เธอศึกษามาแสดงออกถึงปรัชญาแห่งการเคลื่อนไหวในการแสดงคอนเสิร์ตของเธอได้เป็นอย่างดีการเต้นในรูปแบบโมเดิร์นแดนซ์ ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้มีการสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในลักษณะของการทดลอง การนำเสนอแนวคิดใหม่ เทคนิคใหม่ เพื่อให้มีรูปแบบการแสดงที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ยังมีนักออกแบบท่าเต้นและนักเต้นที่ยิ่งใหญ่อีกมากมายทำการสืบทอดพัฒนาและคลี่คลายรูปแบบการเต้นนาฏศิลป์ร่วมสมัย ไปในทิศทางที่ต่าง ๆ กัน ในประเทศแถบเอเชียเช่นญี่ปุ่น ก็มีรูปแบบการเต้นรำ การเคลื่อนไหวที่พัฒนามาจากนาฏศิลป์ร่วมสมัยในยุคแรก แต่พัฒนารูปแบบเป็นการเคลื่อนไหวที่สัมผัสกันด้วยพลังงานที่อยู่รอบ ๆ ร่างกาย เรียกเทคนิคการเต้นนี้ว่า บุตโต (Bud-toh) ที่ประเทศอินโดนีเซียได้มีการนำเทคนิคศิลปะการต่อสู้ชั้นสูงมาผสมผสานจนเกิดเป็นท่าเต้นในรูปแบบของนาฏศิลป์ร่วมสมัยที่มีชื่อท่าและเทคนิคเป็นท่าเตรียมพร้อมในการต่อสู้ เช่นรำกริช ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นท่าทางเหล่านี้ปรากฏอยู่ในกีฬาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ปัญจะสีลัต